มฟล.จับมือ TCFF วิจัยและพัฒนา กัญชา-กัญชง สายพันธุ์ไทย เพื่อใช้ทางการแพทย์ โฟกัสกลุ่มโรคพาร์กินสัน-อัลไซเมอร์
. เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดย รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี กับ บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน จำกัด หรือ TCFF : Thai – China Flavours and Fragrances Industry Co., Ltd. โดยนายสุนทร เกียรติธนากร ผู้จัดการโครงการ ที่ห้องประชุมดอยตุง อาคารวันชัย ศิริชนะ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาสารสกัดกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มโรค พาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ต่อไป
. ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสมุนไพรกัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการออกกฎหมายใหม่และปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่เดิม เพื่อเปิดทางสู่การนำไปใช้เชิงพาณิชย์มากขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยสายพันธุ์กัญชาไทยทั้งในด้านการปลูก การพัฒนาสายพันธุ์การวิเคราะห์ทางเคมีการทดสอบฤทธิ์ทางชีววิทยาและการวิจัยทางคลินิก เพื่อให้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการสนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์และผลการศึกษาที่ได้จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถนำไปใช้ในผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย เป็นทางเลือกในการใช้ยาไทยในการรักษา ลดอันตรายจากการใช้ยาแผนปัจจุบัน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศในการลดค่าใช้จ่ายด้านยา รวมถึงสร้างมูลค่ายาไทยสู่นานาชาติต่อไปในอนาคต
. เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีรูปธรรมที่ชัดเจน ประกอบกับเป็นการส่งเสริมเพื่อสนับสนุนกระบวนการ การศึกษาวิจัยและการพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยเพื่อใช้ทางการแพทย์ ในการนี้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับ บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน จำกัด จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นกรอบความร่วมมือทางด้านการวิจัยร่วมกัน สำหรับในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีผู้ประสานงานหลักในความร่วมมือครั้งนี้คือ ศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร นำโดย ผศ. ดร. ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ ซึ่งมีพันธกิจหลักในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านสมุนไพรอย่างครบวงจรทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ ระดับสัตว์ทดลอง และทางคลินิก ตามมาตรฐานระดับสากล พัฒนางานวิจัยเพื่อประเมินคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของสมุนไพร ตำรับยาไทย และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่งเสริมการรับรู้ และความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องให้แก่ประชาชนทั่วไป ส่งเสิรมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะ