รอบรั้วเชียงราย » เชียงรายบุกจับสถานประกอบการครอบครอง ยา เครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ไม่ได้รับอนุญาต

เชียงรายบุกจับสถานประกอบการครอบครอง ยา เครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ไม่ได้รับอนุญาต

10 ตุลาคม 2024
6844   0

เชียงรายบุกจับสถานประกอบการครอบครอง ยา เครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ไม่ได้รับอนุญาต

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ตุลาคม 2567 นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย พล.ต.ต.มานพ เสนากูล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย พ.ต.อ.โสภณ ม่วงเฟื่อง ผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ได้ร่วมแถลงข่าวการตรวจยึด จับกุมสถานเสริมความงาม จากสถานประกอบการที่ ครอบครองและจำหน่ายยาอันตราย เครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ที่จำหน่ายโดย ไม่ได้รับอนุญาต และที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยการแถลงข่าวมีขึ้น ณ ห้องประชุมกาสะลองคำ อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงาน สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย

สำหรับการจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ทางเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ได้สืบทราบว่ามีสถานประกอบการที่มีลักษณะครอบครองและจำหน่ายยาอันตราย เครื่องมือแพทย์และ ผลิตภัณฑ์เสริมความงามแห่งหนึ่ง บริเวณถนนเวียงบูรพา ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข เจ้าหน้าที่จากกลุ่มกฎหมาย เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนเมืองเชียงราย ได้ร่วมกันสืบหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมโดยมีการรวบรวมหลักฐานและดำเนินการสั่งซื้อยา อันตรายจากสถานที่ดังกล่าว พบว่ามีการจำหน่ายยาอันตรายที่ถูกควบคุมตามประกาศของกระทรวง สาธารณสุข ซึ่งห้ามใช้และจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีการกระทำความผิดจริง จึงได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลจังหวัดเชียงราย เข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว โดยพบว่า ผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ดังกล่าวได้ครอบครองและจำหน่ายยาอันตราย เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์เสริมความงามแบบผิดกฎหมาย จำนวน 200 รายการ หรือประมาณ 15,000 ชิ้น มูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,000,000 บาท

จำแนกเป็นในกลุ่มยาอันตราย เช่น โบท็อกซ์(Botulinum Toxin), ยาชาลิโดเคนชนิดทา (Lidocaine), กลูต้าไธโอนชนิดฉีด (Glutathione Injection), คอลลาเจนชนิดฉีด (Collagen Injection), โซเดียมไฮยาลูโรเนตชนิดฉีด (Sodium Hyaluronate Injection) และวิตามินชนิดฉีด ในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ ได้แก่ ฟิลเลอร์, ไหมสำหรับ ร้อยไหม, เสต็มเซลล์ รวมถึงมีเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดมีการ นำเข้ามาโดยไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยเฉพาะยาอันตรายที่ใช้ในคลินิกเสริมความงามที่ต้องมีการควบคุมการใช้โดยแพทย์เฉพาะทาง และไม่ได้อนุญาต ให้มีการจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มยาที่ได้ขึ้นทะเบียนการรับรองจากสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา เป็นกลุ่มยาที่สามารถจำหน่ายได้โดยต้องมีการควบคุมดูแลจากเภสัชกร หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ได้แก่ ยาชาชนิดฉีด (Lidocaine injection), ยาอะซิตีลซีสเตอีน (Acetylcysteine) และยาทรานซามิคแอซิด (Tranexamic Acid) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ประกอบการไม่ได้ประกอบวิชาชีพเภสัชกร หรือเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เปิดร้านจำหน่ายยาแผน ปัจจุบัน


เบื้องต้นได้แจ้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดฐาน ผลิต จำหน่ายและโฆษณายาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510, ขายเครื่องสำอางโดย ไม่มีเลขจดแจ้ง ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 และขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับ อนุญาต ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 จากนั้นได้ส่งตัวผู้ต้องหาและของการให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป…