หนุนวิจัยเพื่อรับมือแผ่นดินไหวครั้งใหม่ที่น่ารุนแรงกว่า
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ลงพื้นที่แผ่นดินไหวเชียงราย 2557 หนุนวิจัยเพื่อรับมือแผ่นดินไหวครั้งใหม่
วันนี้( 7 พฤษภาคม 2567) ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ นำคณะตัวแทนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศูนย์วิจัยแห่งชาติ(วช.) มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวจังหวัดเชียงราย ที่มี อ.แม่ลาว เป็นศูนย์กลาง
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้รวมเป็นเวลา 1 ทศวรรษ โดยคณะได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, โรงเรียนชุมชนป่าก่อดำ, วัดดงมะเฟือง, เขื่อนแม่สรวย และโรงเรียนศรีถ้อยสุนทรราษฎร์วิทยา
เพื่อรับฟังบรรยายสรุปพร้อมชมวีดีทัศน์ภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ได้ทิ้งร่องรอยความเสียไว้เบื้องหลัง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปัจจุบันเมื่อระยะเวลาผ่านไป รวมไปถึงการเตรียมการการรับมือแผ่นดินไหวในครั้งใหม่ในหลายพื้นที่ อาทิ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนแผ่นดินไหว การซ้อมแผนอพยพผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย โรงเรียนชุมชนป่าก่อดำ ที่เสียอาคารเรียนไปทั้งหลังในเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ทดแทนหลังเก่าที่มีการเสริมความมั่นคงแข็งแรงด้วยนวัตกรรมทางวิศกรรมที่ทำให้อาคารสามารถรองรับแรงสั่นไหวได้ถึง 7 ริคเตอร์
ในขณะที่ “วัดดงมะเฟือง” ที่ตั้งอยู่ในตำบล จอมหมอกแก้ว อำเภอแม่ลาวต้องสูญเสียพระวิหารไป 1 หลัง เนื่องจากเกิดรอยร้าวที่เสากลางพระวิหาร ผนังหลังพระประธานพังทลายลงมา หลังคาหลุดร่อน ศาลากลางเปรียญทรุดตัวและมีรอยร้าว ทางการได้ให้การช่วยเหลือส่งวิศวกรและช่างผุ้เชี่ยวชาญมาทำการสร้างอาคารหลังใหม่ให้พร้อมถ่ายทอดความรู้ให้กับช่างพื้นถิ่นได้เรียนรู้วิธีการสร้างอาคารที่มีความคงทนแข็งแรงรองรับการสั่นไหวได้ถึง 7.0 ริคเตอร์ ที่ผ่านมาช่างก่อสร้างที่ได้รับความรู้ไปต่อยอดในการรับเหมาสร้างบ้านที่มีความมั่งคงแข็งแรงให้กับลูกค้า
ส่วนเขื่อนแม่สรวย คณะได้รับฟังบรรยายสรุปการปรับปรุงและเสริมสร้างความมั่งคงแข็งแรงของตัวเขื่อนเพื่อรองรับแรงสั่นไหวขนาด 7.0 ริคเตอร์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่ใต้เขื่อน ประการสำคัญเพื่อรองรับปริมาณน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งรวมไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเช่นร่องแพเปียก การร่องแพในเขื่อน การแข่งขันไตรกีฬา เป็นต้น และจุดสุดท้ายที่คณะไปเยี่ยมชมคือโรงเรียนศรีถ้อยสุนทรราษฎร์วิทยา เพื่อรับชมแผนการรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหวของนักเรียน ครูรวมไปถึงบุคลากรด้านการศึกษาของโรงเรียนที่ในครั้งเกิดแผ่นดินไหว นักเรียนได้มุดใต้โต๊ะ เก้าอี้ หมอบตรงมุมห้องและอยู่ห่างจากกระจกหน้าต่างเพื่อหลีกเลี่ยงของตกใส่ โดยทางโรงเรียนได้ยึดถือปฏิบัติซักซ้อมจนถึงปัจจุบัน
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่าเรามีการจัดงานหนึ่งทศวรรษแผ่นดินไหวแม่ลาว 3 วัน วันที่ 5-7 พฤษภาคม วันแรกเป็นการจัดรำลึกถึงเหตุการณ์มูลนิธิมดชนะภัย วันที่สองก็เป็นการจัดสัมมนาการเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต พูดถึงเรื่องการวิจัยการพัฒนางานต่าง ๆ ด้วย วันที่สามพากันมาลงพื้นที่ เช่นตึกโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ที่มีการติดอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนเพื่อใช้ในการแจ้งเตือนว่าอาคารยังแข็งแรงดีอยู่หรือเปล่า ตรวจสุขภาพอาคาร ที่เป็นระบบใหม่ที่เรามีการติดตั้งเข้ามา และไปดูตัวอย่างโรงเรียนที่มีการเสริมกำลังให้อาคารเดิมที่อ่อนแอต้านทานแผ่นดินไหวได้ดีขึ้น ไปดูวัดที่มีการซ่อมแซมสร้างใหม่ให้มันแข็งแรงขึ้น และที่เขื่อนแม่สรวยซึ่งก็ได้รับการซ่อมแซมเสริมกำลังให้ทนแผ่นดินไหวได้ดีขึ้น จากแต่เดิมที่มีการรั่วไหลของน้ำตอนนี้ก็เป็นปกติแล้วมีความปลอดภัยดีขึ้น ก็ดูในภาพรวมหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาวเมื่อ 10 ปีที่แล้วเราก็มีความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหวนี้มากขึ้น เพราะเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้วเนี่ยเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรู้ว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเกิดจากแผ่นดินไหวที่ตัวอันตรายอยู่จริง ในช่วง10ปีที่ผ่านมาก็มีการปรับปรุงกฏหมายมีการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบก่อสร้างมีการตื่นตัวของผู้คนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ แต่ในภาพรวมผมยังคิดว่าเรายังไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่เพราะว่าจากข้อมูลที่เราศึกษามา เรายังมีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงกว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่แม่ลาวได้ในอนาคต เรายังมีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงกว่าที่เราเคยเห็นมาในอดีตทั้งหมด โดยเฉพาะถ้าเกิดแผ่นดินไหวที่ใหญ่กว่านั้นหรือเกิดขึ้นในบริเวณตัวเมืองที่มีประชากรหนาแน่นอันนี้อาจจะเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายอย่างมาก เพราะฉะนั้นการเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวนี่ยังเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมากกว่านี้ เรื่องที่สำคัญประการนึงอยากจะไฮไลท์ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คืออาคารใหม่ ๆ จากนี้ไป ไม่ว่าจะสร้างในเชียงใหม่ เชียงราย อาคารใด ๆ ในภาคเหนือเนี่ยควรต้องออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหวให้ได้ กฎหมายตอนนี้ก็ได้มีการกำหนดเข้มงวดมากขึ้นอาคารทั่วไปตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไปก็ต้องออกแบบต้านทานแผ่นดินไหวแต่ในความเป็นจริงแล้ว อาคารทุก ๆ หลังก็ควรต้องออกแบบต้านทานแผ่นดินไหว ไม่ว่ากฎหมายจะกำหนดหรือไม่กำหนดถ้าเราอยากให้อาคารบ้านเมืองปลอดภัยก็ต้องเตรียมพร้อม เรื่องที่สองที่อยากจะเน้นก็คือเรื่องอาคารเก่า ๆที่เราสร้างมานานแล้วทีมีอายุ 10- 20 ปี เรายังใช้งานอยู่ยกตัวอย่างเช่น อาคารโรงเรียน โรงพยาบาลที่อาจจะมีลักษณะบางอย่างที่อ่อนแอเราควรจะไปเสริมกำลังให้มันแข็งแรงขึ้น ตอนนี้เท่าที่สังเกตดูยังมีอาคารที่ยังอ่อนแออยู่เป็นจำนวนมาก ก็เป็นเรื่องที่อยากจะมุ่งเน้นเป็นพิเศษ ยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องที่เรายังน่าจะทำได้ ตอนนี้ในคณะวิจัยที่ผมดูแลอยู่เราจะทำแบบจำลองของเมืองทั้งเมืองเชียงราย ทั้งเมืองเชียงใหม่เราจะสามารถประเมินว่าในอนาคตถ้าเกิดแผ่นดินไหวในรูปแบบต่าง ๆที่ยังไม่เกิดขึ้นในอดีตแต่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจะทำให้เกิดผลกระทบยังไงได้บ้าง ความสูญเสียเป็นเท่าไหร่เราจะได้เตรียมพร้อมรับมือได้ในอนาคต
สุดท้ายผมคิดว่าเรายังไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่ถ้าจะเกิดแผ่นดินไหวที่เหมือนกับแผ่นดินไหวที่แม่ลาวในอนาคตหรือหากเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงกว่าแผ่นดินไหวแม่ลาว เพราะฉะนั้นจึงอยากจะให้ใส่ใจปัญหาเรื่องแผ่นดินไหวให้มากกว่านี้ และก็ให้มุ่งเน้นให้ทำให้อาคารที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี่ให้มันปลอดภัยมากกว่านี้