การศึกษา-กีฬา-ศาสนา » ครูบาอริยชาติ ต่อยอด “เพชรล้านนา” ปีที่ 4 ครอบคลุม 8 จังหวัดเหนือ มอบ 272 ทุน

ครูบาอริยชาติ ต่อยอด “เพชรล้านนา” ปีที่ 4 ครอบคลุม 8 จังหวัดเหนือ มอบ 272 ทุน

30 พฤศจิกายน 2023
9860   0

ครูบาอริยชาติ ต่อยอด “เพชรล้านนา” ปีที่ 4 ครอบคลุม 8 จังหวัดเหนือ มอบ 272 ทุน

 

 

วันนี้( 30 พ.ย. 66) ที่หอปรัชญา รัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย พระภาวนารัตนญาณ วิ. (ครูบาอริยชาติ อริยจิตโต) เจ้าอาวาสวัดแสงแก้วโพธิญาณ นายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย พร้อมด้วย รศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงนคร รองอธิการบดี มรภ.เชียงราย ผศ.เกษรา ปัญญา รองอธิการบดี ม.เชียงใหม่ นางอัจฉรา ครุธาโรจน์ ผช.อธิการบดี มรภ.ลำปาง นางสุมิตรา กัณฑมิตร นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา นานสุรพงค์ นาตะโย เลขาธิการนายกเทศมนตรีเมืองลำพูน นาวปริชญา มิ่งเชื้อ ผอ.กองการศึกษา เทศบาลเมืองน่าน และ น.ส.สุวรรณี เสนีย์ ผอ.กองการศึกษา เทศบาลเมืองแพร่ ร่วมกันแถลงข่าวการดำเนินโครงการ “เพชรล้านนา ครั้งที่ 4 ประจำปี 2566” พร้อมกับร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนต่อยอดโครงการ “เพชรล้านนา”ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

 

พระภาวนารัตนญาณ วิ. หรือ ครูบาอริยชาติ อริยจิตโต เจ้าอาวาสวัดแสงแก้วโพธิญาณ กล่าวว่า “โครงการเพชรล้านนา” มีจุดเริ่มต้นเมื่อประมาณปี 2558 ได้มีโอกาสได้ไปกราบสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือ สมเด็จธงชัย ธมฺมธโช วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ท่านบอกว่ากำลังทำโครงการ “เพชรมงกุฏ” เพื่อมอบทุนให้กับเด็กนักเรียน และแนะนำให้ครูบาได้ทำบ้าง โดยให้ชื่อว่าโครงการ “เพชรล้านนา” เพราะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ พอได้รับคำแนะนำมาเช่นนี้ก็อยากจะทำบ้าง แต่มาติดปัญหา เพราะพระครูบาไม่มีบุคลากร ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง จนมาเจอกับนายกเทศบาลนครเชียงราย ก็เลยเอาปัญหาดังกล่าวไปหารือ และก็ทางเทศบาลได้ส่ง ผอ.กองการศึกษา เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาและนำเสนอแนวคิด และยังประสานกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ให้มาช่วยในการออกข้อสอบและให้ความรู้ด้านวิชาการ จนสามารถผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นได้

 

ครูบาอริยชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเพชรล้านนา ในปีนี้ถือเป็นปีที่ 4 ของโครงการ โดยได้เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2560 มีโรงเรียนใน จ.เชียงราย เป็นพื้นที่นำร่อง ต่อมาในปี 2561 ก็ขยายไป จ.พะเยา และปี 2562 ก็มีการขยายไป จ.น่าน แต่ในปีต่อมา เกิดภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงไม่สามารถที่จะจัดสอบได้ และในปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ 4 ของโครงการ จึงได้ขยายไปครอบคลุมทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน และ แพร่ เพื่อให้ครอบคลุมตามเจตนารมณ์ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ โดยโครงการนี้ถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้มาแสดงศักยภาพ ความรู้ความสามารถ โดยจะมีคณะกรรมการที่จะทำการสอบ แบ่งเป็น 3 รอบคือ รอบคัดเลือกเพชร รอบเจียระไนเพชร และรอบสุดท้ายคือรอบเพชรล้านนา นอกจากจะเป็นการสอบเพื่อวัดความรู้แล้ว ยังมีการสอบด้านคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กันไปด้วย ถือเป็นโครงการที่จะคัดเลือกคนเก่งและคนดี เป็นโครงการด้านการศึกษาที่ครูบาได้ริเริ่มทำขึ้นมา เพื่อเป็นประโยชน์กับลูกหลานชาวล้านนา เป็นการส่งเสริมสนับสนุน สร้างขวัญกำลังใจให้กับเด็กๆ ให้มีกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียน เพื่อจะได้เติบโตไปเป็นบุคลากรที่ดีมีศักยภาพของสังคม สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ และกลับมาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป

นายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย เผยว่า โครงการเพชรล้านนาที่พระครูบาอริยชาติได้ริเริ่มขึ้นมา เป็นโครงการที่สร้างโอกาสให้กับเด็กนักเรียน เป็นการจูงใจ สร้างขวัญกำลังใจ ส่งเสริมให้เด็กได้ขับเคลื่อนตัวเองไปสู่ทิศทางในอนาคตที่ดี ในส่วนของเทศบาลนครเชียงรายเองที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการเพชรล้านนาแล้ว ก็ยังนำไปสู่การต่อยอดขององค์กรทางการศึกษาของเทศบาล ให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องทั้งปีในทุกช่วงชั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กอนุบาล ประถม มัธยมต้น จนไปถึงมัธยมปลาย จนกระทั่งการเตรียมตัวเข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งใช้เวลาในกระบวนการในการศึกษามากกว่า 10 ปี โดยทางเทศบาลจะเข้าไปช่วยดูแลในเรื่องของค่าใช้จ่าย ที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต การแต่งตัว พฤติกรรมต่างๆ เพื่อที่เด็กที่เข้าร่วมโครงการเพชรล้านนา จะได้เติบโตเป็นเพชรที่สมบูรณ์แบบ ทน.เชียงรายในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งของท้องถิ่น ก็จะได้ปูพื้นฐานรองรับให้กับเด็กๆ ว่าเขามีมุมมอง มีความคิด หรือมีความต้องการอย่างไร โดยจะเข้าไปส่งเสริมศักยภาพต่างๆของเด็กให้ปรากฏ ตามแนวทางของโครงการเพชรล้านนา เด็กบางคนอาจจะเก่งทางด้านสายศิลป์ บางคนอาจจะเก่งทางด้านสายวิทย์ บางคนอาจจะเก่งด้านสายอาชีพ กระบวนการในการแตกยอดเหล่านี้จะต้องทำทุกด้านควบคู่กันไป โดยทางเทศบาลจะได้รับความร่วมมือกับทาง ม.ราชภัฎฯ ที่ได้ส่งอาจารย์เข้าไปสร้างกรอบแนวคิดต่างๆให้กับคณะครูของโรงเรียนในสังกัด ตนมีความเชื่อว่าเด็กนักเรียนที่ได้เจ้าสู่โครงการเพชรล้านนาแล้ว เด็กจะได้มีโอกาสในการการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เทศบาลก็เป็นเพียงองค์กรเล็กๆ องค์กรหนึ่ง ที่จะสร้างโอกาสหรือเปิดโอกาสให้เขาได้เลือกช่องทางไปสู่เป้าหมายของชีวิต

 

ด้าน รศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงนคร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย มีภารกิจกลักในการผลิตบัณฑิต ซึ่งตามปณิธาณของมหาวิทยาลัยของเราก็คือ เป็นมหาวิทยาเพื่อท้องถิ่น เพราะฉะนั้นโครงการเพชรล้านนาของพระเดชพระคุณเจ้าครูบาอริยชาติ ช่วยให้ทางมหาวิทยาลัยได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยพัฒนาบัณฑิตตั้งแต่ในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมต้น จนถึงมัธยมปลาย ถือว่าเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดวิชาความรู้ ตลอดจนการปลูกฝังจริยธรรมคุณธรรมไปสู่เยาวชน ก่อนที่จะมาเป็นบัณฑิตของมหาวิทยาลัย และโครงการเพชรล้านนายังไปสอดคล้องกับแนวทางของเทศบาลนครเชียงรายที่มุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกของโครงการเพชรล้านนา ที่ขยายครอบคลุมทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือของ อปท. และสถาบันการศึกษา ที่จะร่วมกันปลูกฝังความรู้ คุณธรรมจริยธรรม ตามเจตนารมณ์ของครูบาอริยชาติ

สำหรับโครงการเพชรล้านนาในปี พ.ศ.2566 มีเป้าหมายที่จะมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนทั้งหมด 272 ทุน ได้รับมอบทุนเริ่มต้นโครงการจำนวน 2 ล้านบาท จากนางกรรณิการ์ ทาศักดิ์

และนางฟลอเรนติน่า วันเดอร์แพร์ โดยได้มอบหมายให้เทศบาลนครเชียงราย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ดําเนินการคัดเลือกนักเรียนเยาวชนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้และในแต่ละดับชั้น ทั้งเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จำนวน 8 จังหวัด โดยมีคณะทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการ รวมทั้งได้หน่วยงานเครือข่ายในการสนับสนุนและให้ความสะดวกในการจัดเป็นศูนย์สอบจำนวน 8 ศูนย์สอบ เพื่อทําการคัดเลือกนักเรียน เยาวชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับรางวัล “เพชรล้านนา” ต่อไป