ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) จัดงานครบรอบการดำเนินงาน 24 ปี
วันนี้(วันที่ 2 ตุลาคม 2565) ภายใต้การบริหารงานของ นาวาอากาศตรีสมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ได้จัดงานครบรอบการดำเนินงานฯ 24 ปี ทั้งนี้ ทชร. ได้จัดงานดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและเพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนบริษัทสายการบิน / ผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานราชการที่ปฏิบัติงานภายใน ทชร.
สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมาปริมาณการจราจรทางอากาศ ของ ทชร. ปี พ.ศ.2565 (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565) มีจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ย 30 เที่ยวบิน /วัน มีจำนวนผู้โดยสาร 3,812 คน /วัน และมีสายการบินที่ให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 5 สายการบิน โดยทำการบินเส้นทางในประเทศทั้งหมด ประกอบด้วย 1. สายการบินนกแอร์ (DD) เส้นทางบิน ดอนเมือง – เชียงราย – ดอนเมือง จำนวน 4 เที่ยวบินต่อวัน 2. สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ (SL) เส้นทางบิน ดอนเมือง – เชียงราย – ดอนเมือง จำนวน 3 เที่ยวบินต่อวันม 3. สายการบินไทยแอร์เอเชีย (FD) เส้นทางบิน ดอนเมือง – เชียงราย – ดอนเมือง จำนวน 3 เที่ยวบินต่อวัน 4. สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ (WE) เส้นทางบิน สุวรรณภูมิ – เชียงราย – สุวรรณภูมิ จำนวน 2 เที่ยวบินต่อวัน และ 5. สายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ (VZ) เส้นทางบิน สุวรรณภูมิ – เชียงราย – สุวรรณภูมิ จำนวน 4 เที่ยวบินต่อวัน และ เส้นทางบิน ภูเก็ต – เชียงราย – ภูเก็ต จำนวน 4 เที่ยวบินต่อวัน(เฉพาะวันจันทร์ / พุธ/ ศุกร์ และอาทิตย์)
โครงการแผนพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย
โครงการก่อสร้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการของ ทชร. โดยจะอยู่ในระยะที่ 1 ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2568 – 2571 คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารประมาณ 6 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นงานที่ดำเนินการด้วยงบลงทุนประจำปี 2564 ถึง 2568 ประกอบด้วย 1. งานก่อสร้างระบบทางขับขนานด้านทิศเหนือ และปรับปรุงทางขับท้ายหลุมจอด พร้อมทางขับ A และ B ระยะเวลาการก่อสร้าง เริ่ม 4 ตุลาคม 2564 ถึง 26 กรกฎาคม 2566 จำนวน 660 วัน, 2. งานปรับปรุงพื้นที่หัวทางวิ่งด้าน 03 และ 21 เซ็นต์สัญญาเรียบร้อยแล้ว, 3. งานจ้างก่อสร้างขยายถนนทางเข้า – ออก ทชร. เริ่มดำเนินการในงบประมาณปี 2566, 4. งานก่อสร้างอาคารรับรองบุคคลสำคัญ (VIP / VVIP) เริ่มดำเนินการในงบประมาณปี 2566, 5. งานก่อสร้างอาคารสำนักงาน ทชร. และอาคารบำรุงรักษาท่าอากาศยาน เริ่มดำเนินการในงบประมาณปี 2566, 6. โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน Maintenance , Repair and Overhaul (MRO) โดย บริษัท เชียงราย เอวิเอชั่น โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ประกอบกิจการฯ ระยะเวลา 30 ปี ในด้านความพึงพอใจของลูกค้า / ผู้โดยสารโดยผ่านโครงการประเมินคุณภาพการให้บริการของท่าอากาศยาน (AOT Satisfaction Survey) ซึ่งเป็นการศึกษาความต้องการของผู้โดยสารที่ใช้บริการ ณ ทชร. ค่าคะแนนตัวชี้วัดที่ได้รับมากที่สุดในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2565 พบว่าเป็นเรื่องของ “การให้บริการของพนักงานภายในท่าอากาศยาน ” ที่ปฏิบัติ
งานด้วยความสุภาพเรียบร้อย ให้ใจในการให้บริการและพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ ซึ่งก็เป็นผลมาจาก ที่ ทชร. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคลากร จึงได้จัดให้มีการอบรม สัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานในหลายด้านอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ทชร. ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามหลักธรรมาภิบาล การดำเนินงานที่โปร่งใส มุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าร่วมกันกับสังคมและชุมชนที่ยั่งยืนภายใต้แนวคิดการเป็นสนามบินที่เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของชุมชน (Corporate Citizenship Airport)
ภายในระยะเวลาหนึ่งปี ภายใต้การบริหารงานของ นาวาอากาศตรีสมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จนถึงปัจจุบัน ทชร. มีผลงาน โครงการ / กิจกรรมหลากหลายที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ ทชร. อาทิเช่น
- เป็นผู้ผลักดันในการเสนอชื่อ ทชร. เข้าระบบ “Thailand Pass เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยเป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 9” เพื่อรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ (First port of arrival) ตามมาตรฐานและคำแนะนำ Covid Free Setting ของกระทรวงสาธารณสุข โดยเที่ยวบินขาเข้าระหว่างประเทศที่มาใช้บริการเป็นวันแรก โดยการเช่าเหมาลำของ NOMAD AVIATION AG ทะเบียน HBJJJ แบบอากาศยาน A319 เส้นทางการบินบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย – เชียงราย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและให้ความมั่นใจในศักยภาพของจังหวัดเชียงราย และ ทชร. ที่มีความพร้อมเป็นประตูต้อนรับผู้มาเยือนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อจังหวัดเชียงรายภายใต้การเดินทางและการท่องเที่ยวในวิถีใหม่
- โครงการ Safe Corridor Initiative (SCI) : เริ่มจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส
โคโรนา 2019 (COVID – 19) ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน ท่าอากาศยานอินชอน Incheon International Airport Corporation (IIAC) จึงได้ริเริ่มโครงการ SCI นี้ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยานในการรับมือกับการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัส COVID – 19 รวมทั้งสร้างเครือข่ายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเดินทางทางอากาศ เช่น โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร การขนส่ง และบริษัทสายการบิน ซึ่ง ทชร. ได้เข้าร่วมโครงการ SCI เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 และ ได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตร เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 พร้อมประกาศให้ ทชร.เป็นสมาชิกโครงการ SCI ที่ได้ผ่านการตรวจประเมินการบริการจัดการ ท่าอากาศยานเกี่ยวกับมาตรการในการรับมือและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 เพื่อสร้างการเดินทางที่ปลอดภัยระหว่างท่าอากาศยานสมาชิก และฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้โดยสาร
- การขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo Hub) : ถือว่าเป็นหนึ่งในนโยบายการดำเนินงานของ บริษัท
ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ที่มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศ (AIR CARGO HUB) และ ทชร. มีศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเกษตรกร ชุมชน และเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย โดยโครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว ได้แก่ ลิ้นจี่บินได้ ทะเลบินได้ สับปะรดบินได้ และ ส้มโอบินได้ ดังนั้น ทชร. จึงมีความพร้อมเป็น “ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางการเกษตร รวมถึงสินค้าอื่นๆ ของจังหวัดเชียงราย โดยการขนส่งสินค้าทางอากาศ (AIR CARGO HUB)”
.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน Maintenance , Repair and Overhaul (MRO) : วางตำแหน่งให้เป็น
ศูนย์ซ่อมอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแบบ Common Use ซึ่งทุกสายการบินสามารถเข้ารับบริการได้ และเป็นการร่วมมือกันของ Aviation Industry Corporation of China (AVIC) กลุ่มบริษัทการบินและอวกาศและการป้องกันประเทศของจีน ซึ่ง AVIC เป็นผู้ผลิตอากาศยานอันดับหนึ่งของจีน (อันดับสามของโลก) ซึ่ง MRO ที่ ทชร.นี้ถือว่าเป็นแหล่งงาน แหล่งสร้างรายได้ แหล่งสร้างวิชาชีพของคนในวงการการบิน และแหล่งสร้างอนาคตของภาคเหนือทั้งหมด โดยในอนาคต ทชร. จะใช้ MRO นี้เป็นการก้าวไปสู่ “มหานครการบิน”
- การให้บริการ “Air Medevac การขนส่งทางการแพทย์ทางอากาศ” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจการบินที่มีโอกาสอย่างมากในจังหวัดที่วางตำแหน่งเป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ จะทำประกันภัยกับบริษัทประกันในการคุ้มครองประกันสุขภาพและอุบัติเหตุก่อนเดินทางมาเที่ยว ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ บริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบในการขนส่งผู้ป่วยทางอากาศ โดยผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator) จะดำเนินการด้าน Air Medivac ให้บริการเพื่อการเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที ปลอดภัย และรวดเร็วที่สุด
รางวัลอันภาคภูมิใจ :
- สถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการในการรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประจำปี
2564 (EIA Monitoring Award 2021) “ประเภทยอดเยี่ยม”
- สุขาสะอาดได้มาตรฐาน (HAS : Health Accessibility Safety)
- รางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมใน
การทำงานประจำปี 2565 “รางวัลระดับประเทศ” โดย ทชร. ได้รางวัลฯ นี้ติดต่อกัน 13 ปีซ้อน
- ผ่านการรับรองระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจตามมาตรฐานสากล ISO 22301 : 2019
เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมั่นใจได้ว่า ทชร. สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดการหยุดชะงักโดยมีการป้องกันและตอบสนองต่ออุบัติการณ์ต่างๆ และฟื้นคืนบริการสำคัญให้กลับสู่ภาวะปกติได้อย่างทันท่วงที
ทชร. ถือเป็นส่วนหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ที่พร้อมพัฒนาปรับปรุงบริการต่าง ๆ ภายในสนามบินให้มีความทันสมัย ปลอดภัย สะดวกสบาย และรวดเร็ว เพื่อการก้าวเข้าสู่ความเป็น Digital Airport และพร้อมมุ่งสู่การเป็นท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก อีกทั้ง ทชร. ถูกวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ภายใต้แนวความคิด “ Northern – most Sustainability Regional Airport ” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน และมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและสุขภาพ โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมการบินของประเทศต่อไป