เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) หมายถึง เมืองที่มีการใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ โดยมีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ มีการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต องค์การยูเนสโกจึงจัดตั้งเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อเป็นช่องทางให้เมืองที่ต้องการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความก้าวหน้าในการทำงาน รวมถึงมีระบบสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเครือข่ายการทำงานในระดับนานาชาติ ปัจจุบัน เครือข่ายนี้มีมากกว่า 229 เมือง จาก 64 ประเทศ โดยในประเทศไทยมีจำนวน 4 เมือง คือเทศบสลนครเชียงราย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ผ่านมาแล้ว 2 ปี หลังจากเมืองทั้ง 4 ของไทยผ่านการคัดเลือกให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ทั้ง 2 ปีที่ว่าไม่ได้น่าสนใจเฉพาะระยะเวลา แต่มันเป็นเดือนปีที่ต้องต่อสู้กับทั้งปัญหาโรคระบาด เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มาทบทวนว่าเส้นทางของการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้นั้น เจออุปสรรคและโอกาสอย่างไร รวมทั้งมองให้ไกลขึ้นอีกสักหน่อยว่าผู้นำที่ดี จะเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร วันที่ 31 สิงหาคม 2565 เวลา 14.00-16.00 น. พบกับเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ผู้นำดี เมืองดี Learning City เปิดพื้นที่ เปลี่ยนเมือง เป็นห้องเรียน” เพื่อหาคำตอบว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ จะสามารถสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองในอย่างไร ผ่านแฟนเพจ Equity Lab โดยมีแขกรับเชิญดังนี้ – ดร.ปรีชา อนุรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย – ดนย์ ทักศินาวรรณ ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา – กิติพร ทัพศาสตร์ นักวิชาการ ฝ่ายยุทธศาสตร์ภาคีเครือข่ายวิชาการและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย (วสศ.) – อิษฏ์ ปักกันต์ธร นักวิชาการ กสศ. ดำเนินรายการโดย อรสา ศรีดาวเรือง จาก WAY Magazine