41คนไทยรอดตายภัยสงครามเมียนมาญาติสุดกลั้นน้ำตาดีใจ
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่จุดผ่านแดนถาวรไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 อ.แม่สาย จ.เชียงราย พล.ต.ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง พ.อ.ณฑี ทิมเสน ผบ.ฉก.ทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง และประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย–เมียนมา (TBC) ฝ่ายไทย ได้นำเจ้าหน้าที่ทหาร ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการรับตัว 41 คนไทย(ชาย 23 คนและหญิง 19 คน) ส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาวอายุตั้งแต่ 20-40 ปี ที่หนีภัยสงครามระหว่างงกองทัพโกกั้ง (MNDAA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพยะไข่ (AA) กับทหารรัฐบาลเมียนมาในเขตปกครองตนเองโกกั้ง รัฐฉานตอนเหนือ โดยทั้งหมดได้รับการช่วยเหลือจากทหารว้าและทหารกองทัพภาคสามเหลี่ยม ประเทศเมียนมา มาคัดกรองที่เมืองเชียงตุง ก่อนนำส่งตัวมาถึง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา และข้ามมา อ.แม่สาย ในวันเดียวกันนี้
โดยทางไทยมีการจัดรถบัสจากมณฑลทหารบกที่ 34 และมณฑลทหารบกที่ 37 จำนวน 2 คันไปรอรับ ซึ่งหลังจากทางการเมียนมาได้นำทั้งหมดเดินทางไปถึงบริเวณด่านพรมแดนมีการลงนามรับบุคคลระหว่างด่าน ตม.เชียงราย และด่าน ตม.ท่าขี้เหล็ก กรณีรับบุคคลที่เข้าเมืองเมียนมาอย่างผิดกฎหมายภายใต้การยินยอมของทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อนำกลับประเทศไทย ก่อนที่จะพาทั้งหมดขึ้นรถบัสแยกชายหญิงโดยมีรายงานว่าทั้งหมดมีผู้ที่หลบหนีหมายจับจากประเทศไทยจำนวน 3-4 คน โดยเป็นหมายจับจากหลายท้องที่ทั้งในข้อหายาเสพติด ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และข้อหาฉ้อโกงทรัพย์และนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งหลังจากทางการเมียนมานำทั้งหมดไปส่งถึงสะพานเจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้งหมดนั่งรถบัสไปแลพาเดินทางไปยังค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมืองเชียงราย ทันที ก่อนจากนั้นจึงนำตัวทั้งหมดเข้าสู่ขบวนกี่คัดกรองโรคและจึงค่อยคัดแยกบุคคลก่อนดำเนินการตามขั้นตอนของ ตม.เชียงราย
ต่อมาในเวลา 14.00 น.วันเดียวกัน ณ มณฑลทหารบกที่ 37 อ.เมือง จ.เชียงราย พล.ต.ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง พร้อมด้วย พ.ต.อ.เขมชาติ วัฒนนภาเกษม ผกก.ตม.ชร. ด่านศุลกากรแม่สาย, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแถลงข่าว
โดย พล.ต.ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง กองทัพบกช่วยเหลือคนไทยจากเมืองหนานเติ้ง ประเทศเมียนมา กลับสู่ประเทศไทย จากสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศเมียนมาในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน บริเวณเมืองเล่าก่าย และเมืองหนานเติ้ง ส่งผลให้คนไทยที่เดินทางไปทำงานในพื้นที่ได้รับผลกระทบ และเกิดความไม่ปลอดภัย จากสถานการณ์ดังกล่าว ประมาณ 305 คน แบ่งเป็นพื้นที่เมืองเล่าก่าย ประมาณ 264 คน และพื้นที่เมือง หนานเติ้ง จำนวน 41 คน ดังนั้น กระทรวงกลาโหม โดย กองทัพบก และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึง มูลนิธิ เอ็มมานูเอล (IMF Thailand) ได้บูรณาการและประสานงานร่วมกับฝ่ายทหารเมียนมาผ่านกลไก ของคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (TBC)ไทย – เมียนมา โดยยึดหลักการให้ความช่วยเหลือทาง มนุษยธรรมเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน นอกจากนั้นยังได้รับความอนุเคราะห์จากอดีตผู้บังคับบัญชาของ กองทัพบกที่มีความสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายทหารเมียนมา รวมถึงเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ในการ ประสานงานช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบฯ ให้ได้กลับประเทศไทยอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด
การปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนเป็นลำดับ โดยมีหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง ในฐานะคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย – เมียนมา (TBC) เป็นหน่วยปฏิบัติหลัก โดยเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2566 ได้มีการเคลื่อนย้ายกลุ่มคนไทย จำนวน 41 คน ออกจากเมืองหนานเติ้ง ไปยังพื้นที่ปลอดภัยใน จ.เชียงตุง รัฐฉาน โดยได้เดินทางถึง จ.เชียงตุง เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2566 เวลา 2100 น. โดยมีกำลังทหารเมียนมา (ภาคทหารบกสามเหลี่ยม) เป็นผู้ดูแลและอํานวยความสะดวกตลอดห้วงเวลา และได้เคลื่อนย้ายออกจาก จ.เชียงตุง เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2566 เวลา 0840 เพื่อเดินทางต่อไปยัง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นจุดประสานที่ กองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมยานพาหนะ รับกลุ่มคนไทยกลับเข้าสู่ประเทศไทย บริเวณสะพานข้ามแม่น้ําแม่สายแห่งที่ 1 และเดินทางต่อไปยังมณฑล ทหารบกที่ 37 อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อพักคอยและรับประทานอาหาร รวมถึงการรับการตรวจสุขภาพ โดยโรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช ก่อนส่งต่อให้กับสํานักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงราย เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ กองทัพบกคํานึงถึงความปลอดภัยของคนไทยเป็นหลัก จึงมีความจำเป็นในการนำเสนอข้อมูลเมื่อจบภารกิจ
สำหรับการช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่เมืองเล่าก่าย ประมาณ 264 คน กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบก และกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานกับประเทศเมียนมา เพื่อเตรียมการนำคนไทย จากเมืองเล่าก็ถ่ายเคลื่อนย้ายให้เร็วที่สุดส่งกลับมายังประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ แผนการปฏิบัติในห้วงต่อไป กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบก กระทรวงการต่างประเทศ และ ทุกภาคส่วน จะบูรณาการและประสานการปฏิบัติโดยใกล้ชิดในทุกมิติ เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์ ในพื้นที่ รวมทั้งการตรวจสอบจํานวนคนไทย ที่รอการอพยพหรือยังตกค้างในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเตรียมการ รองรับในทุกสถานการณ์ รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงแผนการเคลื่อนย้ายคนไทยกลับประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละห้วงเวลา ทั้งนี้ ขอขอบคุณฝ่ายทหารเมียนมา (ภาคทหารบก สามเหลี่ยม และกองบังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก) ที่ช่วยอํานวยความสะดวกในการนําคนไทยในพื้นที่ เมืองหนานเติ้ง ทั้ง 41 คน กลับเข้าสู่ประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าเรื่องการ ส่งกลับคนไทยทีเหลืออยู่ทางกองทัพบกจะได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป
ด้าน นางนาง ขอสงวนนามสกุล อายุ 56 ปี ชาวบ้านลั๊ว ม.15 ต.ป่าตึง อำเภอแม่จัน กล่าวว่าหลังจากทราบข่าวทางการไทยให้การช่วยเหลือลูกชายตนเองให้ออกจากพื้นที่การสู้รบในประเทศเมียนมาก็รู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาไม่ได้รับการติดต่อจากลูกเลย มาทราบอีกทีก็ตอนที่ลูกได้ใช้โทรศัพท์เพื่อนแจ้งว่าปลอดภัยแล้วซึ่งตนเองมารอรับลูกตั้งแต่เมื่อวานที่ด่านแม่สายแต่น่าจะเกิดจากขบวนการดำเนินการในเมียนมาจึงทำให้ไม่สามารถข้ามกลับไทยได้และในวันนี้ลูกของตนข้ามมาได้อย่างปลอดภัยแล้วดีใจมากจนกลั้นน้ำตาไม่ไหวและขอขอบพระคุณทุกฝ่ายที่ให้การช่วยเหลือลูกของตนในครั้งนี้ …………