มฟล.เชิญหัวหน้าส่วนราชการประชุมหารือแนะนำคณะผู้บริหาร-แนวทางการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาจังหวัดร่วมกัน
.
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดประชุมหารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดเชียงราย ได้แก่ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมนายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, นางภัทราวดี สุทธิธนกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงราย, นายศุภวัฒน์ คูพาณิชย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงราย, พันเอก บุญญฤทธิ์ เกษตรเวทิน รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37, พันตำรวจเอก รุ่งศักดิ์ แสงเสียงฟ้า รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย, นายจตุรงค์ สกุลเอื้อ อัยการจังหวัด ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เวลา 17..00 น. ที่ห้องดอยตุง อาคารวันชัย ศิริชนะ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริขนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวต้อนรับและกล่าวนำการประชุม, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราติศร รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาสัยแม่ฟ้าหลวง แนะนำคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงพร้อมทั้งขอรับคำแนะนำจากหน่วยงานราชการของจังหวัดเชียงรายในการดำเนินงานและการประสานงานกันเพื่อการทำงานพัฒนาจังหวัดเชียงรายร่วมกัน ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมได้ร่วมกันถวายพานพุ่มสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี.
นายกสภามหาวิทยาลัย กล่าวนำก่อนเข้าการประชุมพร้อมทั้งได้แนะนำผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราติศร รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาสัยแม่ฟ้าหลวง ถึงประวัติการทำงานโดยสังเขป ทั้งการเป็นพนักงานคนแรกของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ปัจจุบันมีอายุงาน 25 ปีตามอายุของมหาวิทยาลัย จบการศึกษาวิทยาศาตร์บัณฑิต (เกษตรศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจบการศึกษาปริญญาโทและเอกจากประเทศออสเตรเลีย เริ่มต้นงานเป็นพนักงานธรรมดา เป็นอาจารย์ ก่อนก้าวสู่งานบริหาร ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี รองอธิการบดี ตามลำดับ.
จากนั้นที่ประชุมได้พูดถึงประเด็นต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงดำเนินการอยู่และมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาของจังหวัดเชียงรายตลอดจนประเด็นที่ทางจังหวัดคาดหวังจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยที่ประชุมได้พูดถึงการผลักดันเชียงรายให้เป็น เวลเนส ซิตี้ (Wellness City) โดยที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีปัจจัยหลายส่วนที่สนับสนุนส่งเสริมแผนการพัฒนานี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (การแพทย์แผนไทย-จีน), ศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งมีการผลิตบัณฑิตในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งสิ้น 5 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยยังมีอีกหนึ่งพันธกิจคือการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชนในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย และยังมีผลิตบัณฑิตด้านการจัดการอุตสาหกรรมบริการ เป็นกำลังคนให้กับธุรกิจโรงแรม ธุรกิจนำเที่ยว และธุรกิจบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง.
“เนื่องจากจังหวัดเชียงรายมีเป้าหมายที่จะเป็นเวลเนส ซิตี้ เซนเตอร์ เรายินดีที่จะรองรับสนับสนุน ทั้งความคิดและพร้อมการทำงาน ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและสำนักวิชาต่างๆ ด้านสุขภาพ ผนวกกับการจัดการอุตสาหกรรมบริการ เราพร้อมเป็นกำลังให้กับจังหวัดเพื่อช่วยปั้นเชียงรายให้เป็นเวลเนสซิตี้ เมื่อลงทุนสร้างศูนย์การแพทย์ไปถึง 4000 – 5000 ล้านบาทแล้ว อยากใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง” นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าว ด้านรักษาการแทนอธิการบดี ระบุว่า “การพูดคุยในวันนี้เป็นการสานต่อความร่วมมือต่างๆ ต่อไป นำไปสู่การช่วยเหลือซึ่งกันและกันและประสานความร่วมมือต่อกันต่อไประหว่างจังหวัดและทุกภาคส่วนกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง” ทั้งนี้มีประเด็นหลากหลายที่ที่ประชุมได้พูดถึงไม่ว่าจะเป็นการเป็นคลังข้อมูลเพื่อให้จังหวัดได้นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการค้าการลงทุนชายแดน ที่มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานเกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ (โอเบลส์) สำนักวิชาการจัดการ หรือการผลิตกำลังคนพร้อมใช้งานในทุกสาขาวิชาที่มีทักษะด้านภาษาที่ดีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน. สำหรับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกับการพัฒนาจังหวัดเชียงราย ที่รักษาการแทนอธิการบดี มฟล. ได้รายงานแก่ที่ประชุมถึงด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น Upskill & Reskill และ/หรือ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของจังหวัดหรือการพัฒนาทักษะเพื่อการทำงานในโลกยุคใหม่ Future Skills ตลอดจนแผนยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงราย 20 ปี และแผนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 . โดยโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น ได้แก่ โครงการการพัฒนาครูมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดเชียงรายให้เป็น Learning Coach ผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning, ขับเคลื่อนด้วยชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ(PLC) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ศตวรรษที่ 21, โครงการการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการสอนสมัยใหม่เพื่อพัฒนาทักษะครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย, โครงการพัฒนาครูเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทางด้านภาษาไทย ปี 3, โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ: Upskill & Reskill การช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ รุ่นที่ 1 หลักสูตรระยะสั้น การเรียนรู้รายวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อเตรียมความพร้อมสู่มหาวิทยาลัย (MFU Pre-University) โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม . สำหรับในส่วนการแก้ไขปัญหาสังคม ได้แก่ ปัญหาหมอกควัน ศูนย์ศึกษา วิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาการเกิดไฟป่าหมอกควันในประเทศไทยและในภูมิภาค การฝึกอาชีพ ให้ความรู้แก่ประชาชนและร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โครงการฝึกอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ตลอดจนการเฝ้าระวังกลุ่มเห็นต่าง ป้องกันการเกิดปัญหาที่รุนแรง . นอกจากนี้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงยังมีแหล่งความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นสถาบันชาและกาแฟหรือศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตลอดจนมีการการให้บริการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาล โดยศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (การแพทย์แผนไทย-จีน), ศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งยังมีคลินิกทันตกรรม ตลอดจนโครงการบริการสุขภาพแก่กลุ่มต่างๆ เช่น โครงการทันตกรรมบรมราชชนนี, โครงการตรวจสุขภาพพระสงฆ์, โครงการตรวจสุขภาพช่องปากพระสงฆ์, โครงการตรวจสุขภาพชุดเสือไฟ ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเชียงราย