เชียงรายเปิดงาน“โคล้านครอบครัว”
วันนี้(24 พฤษภาคม 2566) ณ คอกกลางเครือข่ายโคเนื้อล้านนา บ้านกลัวยใหม่ หมู่ที่ 14 ตำบลสันมะเค็ด อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิด “โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” มีนายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์พืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย นำหัวหน้ากลุ่มงานพร้อมด้วยปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ทั้ง 18 อำเภอ, สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ”
นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสร้าง และพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการพัฒนาหมู่บ้าน และชุมชนสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติ ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ต้องทำให้เศรษฐกิจฐานรากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศมีการพัฒนาโดยสามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชนอย่างเข็มแข็ง ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการผ่านโครงการ “โคล้านครอบครัว” ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยจะเป็นศูนย์กลางและโครงข่ายการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะและพัฒนาองค์ความรู้ของชุมชน อีกทั้งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ สามารถเข้าถึงทรัพยากรอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนฯ กู้ยืมเงินสำหรับซื้อโค 2 ตัว ในวงเงินครัวเรือนละ 50,000 บาท ปลอดดอกเบี้ย 4 ปี ซึ่งปัจจุบันนี้ การผลิตเนื้อโค และผลิตภัณฑ์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในอนาคตคาดว่าจะมีการบริโภคจะเพิ่มขึ้น
โดยหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้ธุรกิจภาคบริการ การท่องเที่ยว ร้านอาหารกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ มีความต้องการบริโภคเนื้อโคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน เวียดนามมีความต้องการนำเข้าโคมีชีวิตสูงขึ้น สิ่งสำคัญเกษตรกรผู้เลี้ยงโคต้องศึกษาตลาด ทำความเข้าใจกลุ่มผู้บริโภคให้ถ่องแท้ เพราะผู้บริโภคแต่ละกลุ่มต้องการคุณภาพเนื้อโคที่แตกต่างกัน ซึ่งมาจากสายพันธุ์วัวที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน หรืออาจศึกษาจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่ประสบความสำเร็จแล้ว จากนั้นนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็นแนวทางในการเลี้ยงโคจะดีที่สุด นอกจากนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงโค ยังสามารถพัฒนาต่อยอดจากการเลี้ยงวัวเศรษฐกิจเพื่อขาย สู่การพัฒนายกระดับเป็นเลี้ยงวัวแบบอุตสาหกรรมได้ ด้วยการยกระดับผลผลิตภาคการเกษตร พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ สร้างคุณค่า สร้างอัตลักษณ์าของสินค้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาช่องทางการค้าเพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ ๆ อาทิ การตลาดออนไลน์ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่และผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น เพียงเท่านี้สามารถยกระดับฐานะกลายเป็นผู้ประกอบการฐานรากที่มีความเข้มแข็ง มีโอกาสความเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไม่สิ้นสุด ส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นได้โดยไม่ต้องให้ลูกหลานไปทำงานต่างถิ่นอีกด้วย…