ตะลุยข่าว » ประชาสัมพันธ์-เศรษฐกิจ » สนง.พาณิชย์เชียงราย จับมือ สปป.ลาวและเมียนมา ผู้ประกอบการ17 จังหวัดภาคเหนือ ส่งเสริมการการค้าการลงทุนสามประเทศ  

สนง.พาณิชย์เชียงราย จับมือ สปป.ลาวและเมียนมา ผู้ประกอบการ17 จังหวัดภาคเหนือ ส่งเสริมการการค้าการลงทุนสามประเทศ  

2 พฤษภาคม 2024
13536   0

สนง.พาณิชย์เชียงราย จับมือ สปป.ลาวและเมียนมา ผู้ประกอบการ17 จังหวัดภาคเหนือ ส่งเสริมการการค้าการลงทุนสามประเทศ  

            

เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (2 พฤษภาคม 2567) ที่โรงแรมเฮอริเทจ เชียงรายโฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดเชียงราย  นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์  เป็นประธานพิธีเปิดประชุมสัมมนาร่วมภาครัฐและเอกชน ภาคเหนือของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาวและเมียนมา  ตามโครงการ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือ Northern Border Economy Acceleration 2024” โดยมี นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมเป็นเกียรติ มีนางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด ทั้งภาครัฐและเอกชน จำวน 70 ราย ที่ประกอบด้วยหัวหน้าสำนักงานพาณิชย์และภาคเอกชน 6 แขวงภาคเหนือของสปป.ลาว 22 ท่านและนักธุรกิจเมียนมา 8 ท่าน ให้การต้อนรับและร่วมประชุมสัมนมนาในครั้งนี้

           

นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) ในปี พ.ศ. 2558 โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 3 อำเภอ ประกอบด้วย

อำเภอแม่สาย : ศูนย์การค้าและการเงิน (Trading City) , อำเภอเชียงแสน : ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและท่าเรือเทียบนานาชาติ (Port City) และ อำเภอเชียงของ : ศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชิงนิเวศและการแปรรูปสินค้าเกษตร (Logistic City) โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 แห่งมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประตูการค้าและศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมโยง สู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดดเด่นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ประชาชน อยู่ดีมีสุข”  โดยในปี 2566 จังหวัดเชียงรายมีมูลค่าการค้าชายแดนกับเมียนมา และสปป.ลาว และการค้าผ่านแดนไปจีน มีมูลค่าการค้ารวม 100,951.88 ล้านบาท เป็นการส่งออก 79,517.60 ล้านบาท และการนำเข้า 21,434.28 ล้านบาท มูลค่าการค้าสูงขึ้นจากปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 3.11  จากสถิติการค้าที่ผ่านมาพบว่ามูลค่าการค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการค้าผ่านแดนไปจีนมีมูลค่าสูงสุด

            ด้าน นางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงรายละเอียของโครงการว่า ได้จัดทำขึ้นทั้งหมด 5 โครงการดังนี้

1. การอบรมสัมมนาผู้ประกอบการ Boost Up Trader to Overseas ซึ่งได้จัดไปเมื่อวันที่ 21-22 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ จ.เชียงราย ผู้ประกอบการเข้าร่วม 84 ราย

2. การศึกษาดูงานการค้าชายแดน สปป.ลาว (เส้นทางท่าลี่ จังหวัดเลย-จังหวัดหนองคาย) ระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน 2567 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมดูงาน 40 ราย

3. การศึกษาดูงานการค้าชายแดน เมียนมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 24-27 เมษายน 2567 ผู้ประกอบการดูงานจำนวน 40 ราย

4. การประชุม/ สัมมนาร่วมภาครัฐ และเอกชนกลุ่มภาคเหนือของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะเฮอริเทจ แกรนด์คอนเวนชั่น เชียงราย

5. กิจกรรมเสวนากลุ่มย่อย (Focus Group) ธุรกิจการค้า การบริการ การท่องเที่ยว และ โลจิสติกส์เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทย-เมียนมา-สปป.ลาว เพื่อสร้างมูลค่าทางการค้าในวันที่ 3พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะเฮอริเทจ แกรนด์คอนเวนชั่น

                นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดการประชุมสัมมนา ว่ารัฐบาลให้ความสําคัญ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนและสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในทุกภูมิภาค  กระทรวงพาณิชย์จึงได้กําหนดนโยบายในการพัฒนาการค้าชายแดนหลายประการอันจะได้ประโยชน์ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน (ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา) โดยกําหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้า การลงทุน การค้าชายแดนและผ่านแดน ปี 2567 – 2570 ประกอบด้วย

1. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า

2. ยกระดับศักยภาพและการอํานวยความสะดวกของด่านชายแดน

3. ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ

4. ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน

          ดังนั้นการประชุมสัมมนาร่วมภาครัฐและเอกชนภาคเหนือของประเทศไทย กับประเทศเพื่อนบ้านในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การค้า และใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าในภูมิภาค ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและนักธุรกิจใช้โอกาสจากเขตเศรษฐกิจพิเศษและการเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาค GMS, BIMSTEC และ AEC ขยายฐานเศรษฐกิจของภาคเหนือ รวมถึงเป็นการขยายช่องทางและโอกาสทางการตลาดของสินค้าและบริการ มุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนของภาคเหนือ กล่าวทิ้งท้าย